มนุษย์เรามีความผูกพันกับดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ “เสียง” การเคลื่อนไหวของอวัยวะในครรภ์คุณแม่ “เสียง” คุณพ่อหรือลุงป้าน้าอาที่มาเล่านิทาน หรือมาเยี่ยมเยือนทักทายบริเวณพุงของคุณแม่ที่เจ้าตัวเล็กอาศัยอยู่ พอลืมตาดูโลกได้สักพัก เจ้ามนุษย์ตัวเล็กก็สามารถจดจำเสียงที่เคยได้ยินได้ดีกว่า สนุกสนานกับเสียงหรือนิทานนั้น ๆ ได้ดีกว่าเรื่องไหน ๆ 1 ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ที่ปฏิสัมพันธ์กับความงดงามของดนตรีนั้น ทำให้เกิดสีสันของการใช้ชีวิตจริง ๆ ทุกย่างก้าวของชีวิตมักจะมีดนตรีเข้ามาเป็นส่วนประกอบเสมอ จนบางท่านอาจมีปรัชญาในการดำเนินชีวิตว่า “Music is my life.” ดนตรีที่ฉันรัก เทิดทูน และทะนุถนอม
ขณะที่กำลังพิมพ์บทความนี้ ดิฉันได้เปิดบทเพลงคลาสสิกของบีโธเฟนฟังไปด้วย ทำให้ได้ตระหนักว่า เพลง ๆ หนึ่งหรือผลงานดนตรีชิ้นหนึ่งไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลินกับเรา แต่ทำให้เราได้ทราบถึงที่มาของการประพันธ์ ตลอดจนการตีความอารมณ์เพลงในแต่ละช่วง… ดนตรี จึงไม่ได้มอบแค่สุนทรียภาพทางการได้ยิน แต่ยังมอบวิชาชีวิตด้วย นั่นคือ การวิเคราะห์สถานการณ์ และการเปิดใจทำความเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตรอดพร้อม ๆ กับอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข
ด้วยดนตรีอยู่รอบตัวเราและมีคุณมากมาย จึงมีนักวิจัยหลายท่านได้ทำการศึกษาประโยชน์ของดนตรี จนเกิดเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “ดนตรีบำบัด (Music Therapy)” ซึ่งใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกาย ความคิดจิตใจ และทักษะสังคม ในคนทุกรูปแบบ ทุกวัย ตั้งแต่ผู้คนที่ปกติ ผู้คนที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนเป็นบางจังหวะของชีวิต ไม่สามารถจัดการชีวิตทั้งทางกายและจิตใจได้ดีนัก ไปจนถึงผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องได้รับการอนุบาลให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วผู้มารับบริการการบำบัดจะต้องมีทักษะทางดนตรีมาก่อนหรือไม่ คำตอบคือ… ไม่จำเป็นเลย เพราะในเบื้องต้นนักดนตรีบำบัดจะประเมินปัญหาและพัฒนาการ รวมถึงการประเมินความสามารถทางดนตรีของผู้มารับบริการ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการบำบัด จากนั้นพิจารณาเลือกใช้แนวทางดนตรีบำบัด “ที่เหมาะสมกับบุคคล” นั้น เช่น การเขียนเพลง การใช้เพลงเพื่อช่วยกระตุ้นการถ่ายทอดหรือเพื่อการผ่อนคลาย การวิเคราะห์เนื้อหาของเพลง การฟังเพลงหรือใช้เพลงเพื่อการให้การปรึกษา การเรียนรู้การใช้เครื่องดนตรี การแสดงดนตรี เป็นต้น 2 ในเมืองไทย เริ่มมีการเรียนการสอนเรื่องดนตรีบำบัดแล้ว แต่ด้วยความเป็นศาสตร์ใหม่ ที่มีความละเอียดในการปฏิบัติงาน จึงยังไม่มีการสอบใบประกอบเพื่อเป็นนักดนตรีบำบัดอย่างเป็นทางการในไทย ดังนั้น ผู้ที่ใช้ดนตรีเพื่อการบำบัดจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของประโยชน์หรือคุณภาพชีวิตที่ผู้รับบริการพึงได้รับ
รายการอ้างอิง:
- Feldman, R. S. (2019). Essentials of Understanding Psychology (13th ed.).
New York, NY: McGraw-Hill Education. - musictherapytime.com/2015/04/17/about-music-therapy/